เรื่องเศร้าของคนชอบไข่แดง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
"ไข่" เป็นอาหารที่มีประโยชน์ เพราะมีทั้งโปรตีน วิตามิน สารอาหารทั้งปวงครบถ้วน เหมาะสำหรับเด็กที่กำลังเจริญเติบโตและถือเป็นอาหารประจำชาติ ทั้งไข่เจียว ไข่พะโล้ ไข่ลูกเขย ไข่ดาว ปัญหาโลกแตกที่ถกเถียงกันมาเนิ่นนาน คือ เรื่องไข่แดง ซึ่งอุดมไปด้วยคอเลสเตอรอล จะเกิดโรคหัวใจ เส้นเลือดสมองตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือไม่ถ้ากินมาก การศึกษาสำคัญอยู่ในวารสารของสมาคมแพทย์สหรัฐ ปี 1999 ติดตามผู้ชาย จำนวน 37,851 ราย (อายุ 40-75 ปี) และผู้หญิง 80,082 ราย (34-59 ปี) ไปเป็นเวลา 8-14 ปี โดยแรกเริ่มไม่มีใครมีโรคประจำตัวทางหัวใจ เบาหวาน ไขมันสูง หรือมะเร็ง พบว่า มีผู้ชาย 1,124 ราย และ ผู้หญิง 1,502 ราย เจ็บป่วยล้มตายด้วยโรคหัวใจและอัมพฤกษ์ แต่ไม่มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับปริมาณไข่แดงที่บริโภค ยกเว้นแต่ในผู้ป่วยเบาหวาน ดังนั้น คนปกติที่ไม่มีโรคประจำ ก็สามารถกินไข่ได้วันละ 1 ฟอง และเป็นที่มาของพีระมิดอาหารที่ไม่เคร่งครัดมากในเรื่องของการกินไข่ในคน ปกติ จนกระทั่งหลังๆ มีบทความข้อเขียนต่างๆ จากนักวิชาการบ้าง หมอ หรือผู้นิยมกินไข่นานาชนิด สนับสนุนให้กินไข่ได้วันละ 3-4 ฟอง โดยอ้างว่าในไข่แดงมีไขมันเสีย (LDL) ชนิดที่บำรุงเส้นเลือด และไม่มีโทษ
การศึกษาล่าสุดน่าจะเป็นข้อควรระวังของพวกเราทั้งหลายที่เริ่มเข้าวัยกลางคน
ตั้งแต่วัย 45 ปีเป็นต้นไป ที่แม้ไม่มีโรคประจำตัว
การกินไข่แดง มีผลสัมพันธ์กับเส้นเลือดตีบ โดยที่เป็นรายงานในวารสารเส้นเลือดตีบ
(Atherosclerosis) เผยแพร่ในเดือนสิงหาคม 2012 โดยคณะของศาสตราจารย์ David Spence จากศูนย์โรคเส้นเลือดสมอง
Robarts Research Institute และศูนย์โภชนาการของแคนาดา หลักฐานของเส้นเลือดตีบทำโดยการวัดปริมาณตะกรันที่เกาะที่เส้นเลือดที่คอ
ซึ่งตามปกติคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
ก็เริ่มจะมีเส้นเลือดตีบตามวัย
แต่สำหรับคนที่บริโภคไข่เป็นประจำจะเร่งให้ตะกรันเกาะทำให้เส้นเลือดตีบ
ในอัตราที่รวดเร็วเลวร้ายเทียบเป็นประมาณร้อยละ 70 ของที่เกิดจากการสูบบุหรี่
โดยเห็นได้ชัดเจนถ้ากินไข่ตั้งแต่ 3 ฟองต่อสัปดาห์ขึ้นไป
และในคนที่เป็นเบาหวานการบริโภคไข่วันละฟอง จะเพิ่มอัตราการเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบขึ้น
2-5 เท่า
ผลการศึกษาอีกประการที่น่าตกใจคือ ภาวะตะกรัน หรือเส้นเลือดตีบจากการกินไข่
ไม่มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ความดัน การสูบบุหรี่ อ้วนหรือไม่อ้วน
เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่ากินไข่แล้วไขมันไม่สูงก็อย่าชะล่าใจ สำหรับคนที่ปกติแข็งแรงอายุไม่มาก
ไม่มีโรคประจำตัวคงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นเบาหวาน มีโรคเส้นเลือดหัวใจสมอง หรือเริ่มเข้าสู่วัยกลางคนต้องไม่ผลีผลามรับประทานไม่ยั้งอย่างที่ทำเป็น
ประจำ
ทั้งนี้ เตือนตัวผู้เขียนเอง
ซึ่งก็ชอบกินไข่เป็นชีวิตจิตใจ...บ๊าย...บาย "ไข่แดง"
แหล่งข่าวโดย » มติชน(27 สค.55)